คลิปวีดีโอ : อบรมออกแบบแคมเปญรณรงค์ ก่อน 15 ปีไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ (19-20 มกราคม 2560)

 

ถอดบทเรียนกิจกรรม

ทำไมบางคนถึงขี่ทำไงถึงจะไม่ขี่ (1 ชั่วโมง 30 นาที)


 กระบวนการ

  • จับกลุ่มย่อยตามที่นั่ง รวมครูและนักเรียนเข้าด้วยกัน แล้วให้ตัวแทนกลุ่มนำเสนอ

เนื้อหากิจกรรม

  • วิทยากรให้โจทย์ : รณรงค์ไปร้อยรอบแล้วก็ไม่สำเร็จ ทุกคนรู้แล้ว ไม่ต้องสร้างการรับรู้เพิ่ม จะจัดการปัญหานี้ยังไง (ถ้ามีทุน 25,000) พร้อมยกตัวอย่างพื้นที่จริงและบริบทให้หาทางแก้ปัญหา เช่น โคราช เกาะช้าง

ข้อสังเกตและสิ่งที่พบเห็น

  • ครูมีอิทธิพลในวงพูดคุยค่อนข้างเยอะ นักเรียนยังไม่มีบทบาทมากนัก
  • เมื่อไม่มีกรอบหรือโจทย์บังคับ ทางออกที่เสนอมาค่อนข้างมีความสร้างสรรค์

 


ห้องคุณครู : เรียนรู้การสื่อสารร่วมสมัยและแนวทางพัฒนาคนรุ่นใหม่

 

กระบวนการ

  • จับวงใหญ่พูดคุยกับกลุ่มครู

 

เนื้อหากิจกรรม

  • การสนับสนุนการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ (2017)
  • เรามองนักเรียนอย่างไร (ประวัติศาสตร์แนวคิดความเป็นเด็ก และความอาวุโส)
  • ความเป็นเด็กนักเรียนมองเราอย่างไร (ความเปลี่ยนแปลงระบบอาวุโสในปัจจุบัน)
  • วัฒนธรรมเยาวชนบนเครือข่ายสังคม
  • เราจะสนับสนุนนักเรียนได้อย่างไร
  • เราอยู่ตรงไหนในจักรวาลของนักเรียนที่มีแรงบันดาลใจเป็นของตัวเอง
  • คำถามกับการสนับสนุนนักเรียนที่ขาดแรงบันดาลใจ
  • สนทนาแลกเปลี่ยน

 

 

ข้อสังเกตและสิ่งที่พบเห็น

  • ครูส่วนมากเป็นครูที่ค่อนข้างเข้าใจพื้นที่ของตัวเองดี และสามารถเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน แต่อาจยังขาดลักษณะการยกตัวอย่างของการแก้ไขปัญหา อาจเป็นเพราะถูกหล่อหลอมมาแบบวัฒนธรรมไทยหรือวัฒนธรรมของข้าราชการที่สร้างโครงสร้างมาให้คนมีบทบาทน้อยกว่าโครงสร้าง จึงจำเป็นต้องเห็นว่าปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ มากกว่าเผชิญและแก้ไข
  • ครูเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างทางวัฒนธรรมค่อนข้างดี
  • การแยกระหว่างทัศนคติของครูผู้สอนกับความต้องการของนักเรียนยังเป็นไปไม่ได้มากเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม จากคำอธิบายของครู เห็นว่าพวกเขามีความพยายามและความตั้งใจที่ดี และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาเมื่อทำได้
  • ครูมีลักษณะเป็นนักปฏิบัติ ไม่ค่อยมีโอกาสพบเจอกับนักทฤษฎีที่ดี หรือคำอธิบายที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ จึงมีทัศนคติต่อการวิจัยต่างๆ ว่าเป็นการวิจัยตามโครงสร้างแบบที่พวกเขาเคยพบเจอ และไม่เห็นว่าการวิจัยจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้มากเท่าการกระทำ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีฉับพลันและความคลุกคลีกับนักเรียนทำให้ครูกลุ่มนี้มีทฤษฎีส่วนบุคคลในการใช้ปฏิบัติ และพลิกแพลงฉับพลันได้ระหว่างปฏิบัติการ (นอกเหนือไปจากความคิดเห็นหรืออุดมคติค่อนข้างจะเป็นแบบเก่า แต่ผมไม่คิดว่าเป็นปัญหามากตามจุดประสงค์ของโครงการ) อาจส่งผลในทางที่พึงประสงค์ด้านการสร้างสรรค์ต่อกลุ่มนักเรียนมากกว่าไม่พึงประสงค์
  • ครูแสดงความพยายามอย่างชัดเจนที่จะเข้าใจ และสอดแทรก จัดการนักเรียน และจัดการปัญหาร่วมกับนักเรียน
  • อย่างไรก็ดี ครูประมาณครึ่งหนึ่งไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีพื้นที่ในการแสดงออกมากนัก จึงไม่ได้แสดงออกอะไรให้เห็นมาก

 


 

ห้องนักเรียน : Serious Creativity ฝึกกระบวนการสร้างสรรค์แคมเปญ

กระบวนการ

  • บรรยายสไลด์ ยกตัวอย่าง
  • ทุกครั้งที่จบหัวข้อย่อย จะให้นักเรียนร่วมกลุ่ม Reflect ส่งตัวแทนมาตอบปัญหา แชร์ประสบการณ์

เนื้อหากิจกรรม

  • ถ้าเราใช้มือเปล่าเปิดฝาขวดไม่ได้ต้องทำอย่างไร ? : วิธีแก้ปัญหาโดยไม่โทษ “คน”
  • ทำไมต้องเป็นเรา ? : ตระหนักถึงความสำคัญของตัวเองในฐานะนักเรียน
  • แก้ปัญหาเปลี่ยนโลก : ยกตัวอย่างเคสแก้ปัญหาที่เปลี่ยนโลก เช่น ไอศกรีมโคน, สเกตบอร์ด, ไม้ปั่นหู
  • ทำไมเราถึงต้องทำก่อน 15 ไม่ขี่ : ระดมความเห็นว่าทำไมเราถึงอินกับปัญหานี้
  • รางวัลและความเสี่ยง : เปลี่ยนพฤติกรรมคนด้วยทฤษฏีเกม (แสดงความเสี่ยง + รางวัลระยะสั้น สู่รางวัลระยะยาว)
  • ทบทวนแผนงานของตัวเอง เน้นย้ำเรื่องความเข้าใจคน

 

 

ข้อสังเกตและสิ่งที่พบเห็น

  • โจทย์ ทำไมเราถึงต้องทำก่อน 15 ไม่ขี่ : ระดมความเห็นว่าทำไมเราถึงอินกับปัญหานี้

นักเรียนลงความเห็นมาว่า

  • ไม่อยากให้สูญเสีย
  • เพื่อนเตือนเพื่อนง่ายกว่า ใกล้ชิดกว่า
  • อยากให้อนาคตของชาติได้เติบโต
  • รักษากฎหมาย

วิทยากรท้าทายเพิ่มว่า

  • ถ้าเพื่อนไม่ได้เป็นอนาคตของชาติ โตไปเป็นคนเลวแน่นอน เราจะยังอยากรักษาอนาคตเขาไหม
  • ความสูญเสีย อนาคตของชาติ และกฎหมาย เป็นรางวัลและการลงทุนระยะไกล ไม่แน่นอนว่าจะได้หรือไม่ได้ เราจะทำให้มันท้าทายขึ้นในระยะสั้นได้อย่างไร
  • ในช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์เห็นว่านักเรียนมีความเข้าใจปัญหาพื้นที่ของตัวเองอยู่แล้ว
  • การยกตัวอย่างเรื่องทฤษฏีเกมค่อนข้างได้ผล นักเรียนเข้าใจและจำได้ แต่จะยังไม่เห็นตัวอย่างมากนัก
  • ช่วงบ่ายควรทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว สนุกสนาน เพื่อป้องกันความง่วงหลังอาหารเที่ยง มีเสียงรบกวนจากอีกฝั่ง ทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิ

 


 

Social Actionและตัวอย่างปฏิบัติการสังคมที่มีประสิทธิภาพ

กระบวนการ

  • นั่งรวมกัน วิทยากรบรรยาย ชวนพูดคุยเป็นระยะ

 

เนื้อหากิจกรรม

  • ตัวอย่างแคมเปญสร้างสรรค์ ( Motherhood, EcoParking, SL Benfica )
  • ตัวอย่างแคมเปญสอนสั่ง (จนเครียดกินเหล้า, ไทยหัวสูง, คิดก่อนทำ)
  • ระดับของผลลัพธ์ (รับรู้, นำไปคิด, เกิดพฤติกรรม, ส่งต่อในสังคม เกิดบทสนทนา)
  • ผลลัพธ์ที่ดี = กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนพฤติกรรม
  • ผลลัพธ์ที่ไม่ดี = เป็นศัตรูกับกลุ่มเป้าหมาย พฤติกรรมเหมือนเดิม
  • ทบทวนรางวัล : โครงการของเราเติมเต็มชีวิตกลุ่มเป้าหมายอย่างไร

 

 

 

 

ข้อสังเกตและสิ่งที่พบเห็น

  • ช่วงแลกเปลี่ยนทำให้เห็นภาพว่าผู้ร่วมโครงการไม่ค่อยได้เห็นตัวอย่างของงานสื่อสารสังคม แต่ก็มีความสนใจที่จะพัฒนาสื่อให้มีความน่าสนใจ
  • นักเรียนจำเรื่องรางวัลและความเสี่ยงจากการบรรยายครั้งก่อนได้
  • ขยายความกลุ่มเป้าหมายของการทำแคมเปญได้ชัดขึ้น ว่าควรจะแยกเป็นกลุ่ม :
    • จำเป็น = ให้ทางเลือก
    • ไม่จำเป็นแต่เท่ๆ = ให้ความเท่ใหม่

 


 

Copywriting Crash ทดลองสื่อสารด้วยก๊อปปี้ไรท์ร่วมสมัย

กระบวนการ

  • วิทยากรบรรยายยกตัวอย่าง
  • แบ่งกลุ่มย่อยแจกโจทย์ให้คิด Copywriting ของตัวเอง
  • โค้ชรายทีมแบบ 1:1

 

เนื้อหากิจกรรม

  • ตัวอย่าง Copywriting แบบต่างๆ พร้อมเบื้องหลังการคิด
  • Copywriting เพื่อความชัดเจนของโครงการ

 

 

ข้อสังเกตและสิ่งที่พบเห็น

  • ทุกทีมสามารถแต่งประโยคได้ ค่อนข้างมีความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง
  • ทุกทีมแต่งเป็นประโยคคล้องจองคล้ายคำขวัญ :
    วริศให้ความคิดเห็นว่า ยังไม่ใช่การคิดที่คิดจริงๆ แต่ก็ถือว่าได้ลองนำเนื้อหาไปใส่ในรูปแบบ
  • Copywriting สามารถสะท้อนได้ว่าโครงการมีความชัดเจนและมีบุคลิกภาพหรือไม่

 


 

การบ้านก่อนนอน: เขียน Proposal เพื่อนำเสนอในวันรุ่งขึ้น

กระบวนการ

  • วิทยากรแจกกระดาษและแบบฟอร์มการเขียน Proposal ให้เขียนและนำมาส่งก่อนนอน

 

ข้อสังเกตและสิ่งที่พบเห็น

  • สามารถสื่อสารได้ในเบื้องต้นว่าจะทำอะไรบ้าง
  • สื่อสารผ่านตัวอักษรแล้วไม่รู้สึกว่าน่าสนใจ ต้องรอฟังตอนนำเสนอ

 


 

Specific focus ตามกลุ่มพื้นที่แชร์ Proposal

กระบวนการ

  • โรงเรียนนำเสนอโครงการ รับคำถามจากวิทยากร พูดคุยแลกเปลี่ยน แนะนำ
  • หลังพัก วิทยาเปิดตัวอย่างสื่อรณรงค์รูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการทำโปสเตอร์และทำหนังให้ดู

 

ข้อสังเกตและสิ่งที่พบเห็น

  • ทักษะการนำเสนอโครงการ
    • สามารถเล่าได้ในเชิงรายละเอียด ซักถามได้ น่าสนใจกว่าที่เขียนใน Proposal
      เป็นไปได้ว่าครั้งหน้า ก่อนพิจารณาให้ทุนควรมีการสัมภาษณ์ (ออนไลน์ ผ่าน Facebook Call / Skype)
  • ข้อเสนอของโรงเรียน
    • ทำวงประชุมอบรม : พื้นฐานที่สุด แต่ไม่สามารถวัดผลได้ว่าจะทำหรือไม่ หากไม่ทำนโยบายมากำกับ
    • ทำนโยบาย : เป็นวิธีที่ใช้งานได้ดีที่สุดหากมาพร้อมทางเลือกหรือรางวัล ให้กลุ่มเป้าหมาย
    • ทำสื่อ : พื้นฐานที่สุดคือสร้างการรับรู้ เพิ่มเติมได้คือสร้างการโต้ตอบ ตื่นเต้น
  • ภาพสะท้อนของโรงเรียน
    • เห็นว่านักเรียนและครูเข้าใจปัญหาในพื้นที่ตนเองดี ทำให้ออกแบบทางแก้เชิงนโยบายได้ เช่น ออกกฎ ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดหารถรับจ้าง ติดสติ๊กเกอร์แบ่งแยกรถมอเตอร์ไซค์ก่อนวัย สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ทางนโยบายทั้งหมด แต่เมื่อเป็นเรื่องสื่อรณรงค์ แต่ละโรงเรียนยังต้องเข้าใจเรื่องจุดประสงค์ของการทำสื่อให้มากขึ้น
    • เห็นภาพสะท้อนว่า ตัวนักเรียนและครู ไม่มีโอกาสทราบว่าความสนใจของนักเรียนทั่วๆไปสามารถเอามาสร้างประโยชน์ได้ กรอบคิดในการสื่อสารที่โรงเรียนนำเสนอมาจึงเป็นกรอบคิดที่ตั้งอยู่บน “ความอยากที่จะสื่อสาร” มากกว่าความเข้าใจเรื่อง “ผู้รับสารหรือกลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร” ซึ่งในการออกแบบสื่อ ควรจะคิดถึงความต้องการของผู้รับสารมากกว่า
    • ทัศนคติในการทำสื่อ เมื่อไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานคิดว่า “ผู้รับต้องการอะไรหรือสนใจอะไร” บางครั้งก็ลงเอยด้วยการผลิตสื่อที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายกลายเป็นตัวร้าย : อาจจะถูกใจคนที่ทำโครงการด้วยกัน แต่การทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดภาพลบ ก็ไม่น่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว
    • รูปแบบการทำโครงการบางอัน เป็น Platform ที่เอาไปใช้กับโครงการอะไรก็ได้ เช่น จัดอบรม ไม่จำเป็นต้องเป็นก่อน 15 ไม่ขี่ก็จัดได้ ทำแบบเดิมแต่เปลี่ยนหัวข้อเป็นยาเสพติด บุหรี่ เซ็กซ์ ก็ได้ทั้งนั้น นั่นแปลว่าโครงการอาจจะได้ผล แต่ไม่โดดเด่น และไม่เป็นที่น่าจดจำ

 

 

 

 

  • สิ่งที่วิทยากรนำเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้นำไปพิจารณาปรับปรุง
    • ตัวอย่างการทำแคมเปญที่ “สนุก” คิดถึงผู้รับสารเป็นหลัก
      • กิจกรรมเซอร์ไพรส์ในโรงเรียน เช่น กล่องลึกลับ ถนนลึกลับ ที่เชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาได้
      • Movement ของนิตยสารทำมือ
      • ความสนใจของวัยรุ่น ไม่ได้สนใจเรื่อง อะไรถูกอะไรผิด แต่สนใจว่าเพื่อนคนอื่นๆ คิดอย่างไร เป็นอย่างไร
      • ไม่จำเป็นต้องสอนไปซะทั้งหมดว่าอะไรดีไม่ดี ควรจะท้าทายให้เขาได้คิดได้เลือกเองด้วย
      • ใส่ความสนุกเข้าไปในสิ่งที่คิดมาแล้ว เช่น การ์ตูนรณรงค์ อาจทำให้เป็นเกมตามหา ต่อเรื่อง แทนที่จะแปะเดี่ยวๆ
    • จุดที่ควรปรับปรุงในภาพรวมของโครงการ 
  • กิจกรรมนี้ควรเป็นกำหนดการแรกของโปรแกรม เพราะทำให้เข้าใจที่มาและที่ไปของแต่ละโรงเรียน
  • หลายกลุ่มดำเนินการไปแล้ว ได้ทุนไปแล้ว ทำมาเสร็จแล้ว คำแนะนำในครั้งนี้จึงเป็นคำแนะนำที่อาจไม่มีประโยชน์ในทันที แต่อาจจะเป็นประโยชน์ในครั้งต่อๆไป

 

สอนทำสื่อ

กระบวนการ

  • วิทยากรเปิดสไลด์เล่าประสบการณ์ทำสื่อ คำแนะนำเบื้องต้น
  • เปิดให้ปรึกษาวิทยากรรายกลุ่มตามความสนใจ

 

 

ข้อสังเกต สิ่งที่พบเห็น

  • เป็นช่วงที่สนุก นักเรียนและอาจารย์ดูตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้เรื่องทำสื่อ
  • แต่ละโรงเรียนจะมีความถนัดและความต้องการในสื่อแต่ละชนิดต่างกัน บางโรงเรียนทำหลายสื่อ บางโรงเรียนก็เน้นอย่างเดียวไปเลย

 

ข้อเสนอแนะ

การสอนช่วงนี้จะเป็นประโยชน์มากขึ้นถ้าโรงเรียนได้ทดลองทำสื่อมาให้ช่วยคอมเมนท์

 


ภาพรวม

พื้นฐานผู้เข้าอบรม

  • มักเป็นเด็กสภานักเรียน คิดนโยบายเก่ง คิดวิธีแก้ปัญหาและงานการเมืองการประสานงานได้
  • หลายโรงเรียนทำงานเชิงสถิติและงานวิจัยก่อนออกแบบโครงการได้ดี
  • บางโรงเรียนทำมาหลายปีแล้ว
  • อาจารย์ส่วนมากเข้าใจนักเรียนดี เป็นอาจารย์ที่อยู่ข้างเด็ก
  • ไม่มีปัญหาด้านการทำนโยบาย แต่ต้องพัฒนาเรื่องทักษะและเทคนิคการสื่อสารให้สื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมาย
  • นักเรียนยังไม่รู้วิธีใช้ประโยชน์จากความเป็นเด็ก ถ้ารู้และได้รับโอกาส สนับสนุน งานจะน่าสนใจมาก

 

ทักษะที่โรงเรียนได้รับจากการอบรม

  • ความเข้าใจในมนุษย์ และการใช้ประโยชน์จากความสนใจของมนุษย์
  • ลูกเล่นลูกชนในการออกแบบแคมเปญและเคลื่อนงานสังคม
    • เข้าใจ Risk & Reward
    • ใช้ประโยชน์จากความสนใจดั้งเดิม
    • จำแนกกลุ่มเป้าหมายได้ชัดขึ้นเพื่อสื่อสารได้ดีขึ้น
    • เทคนิคในการสื่อสาร (สื่อสารโดยไม่เล่าตอนจบก่อน)
    • เข้าใจฟังก์ชันของสื่อ ก่อนจะออกแบบสื่อ
    • ใส่ความสนุกเข้าไปในสื่อที่ทำมาแล้ว

 


ปัญหาและอุปสรรค

  • โรงเรียนได้ทุนไปแล้ว บางโรงเรียนทำเสร็จแล้ว จึงไม่แน่ใจว่าการอบรมจะส่งผลต่อคุณภาพโครงการมากน้อยขนาดไหน
  • ในช่วงแรกๆ โรงเรียนมีความสับสนว่า ก่อน 15 ไม่ขี่ เป็นคนละอันกับการขับขี่ปลอดภัย แว๊นซิ่ง
  • ในช่วงแรกๆ โรงเรียนสับสนกลุ่มเป้าหมาย แต่เมื่อได้รับการอบรมก็แยกได้ว่าควรจะสื่อสารกับกลุ่มจำเป็นกับกลุ่มเท่ๆ ด้วยท่าทีที่แตกต่างกัน
  • การจัดอบรมความรู้ในโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่ธรรมดามาก และไม่สามารถรับประกันผลลัพธ์ได้
  • Context ของพื้นที่ต่างกันมาก ควรจะโค้ชกลุ่มย่อยบ่อยๆมากกว่าบรรยายรวม
  • ห้องประชุมแคบ จัดที่นั่งแบบอื่นๆ ได้ลำบาก

 

 

โอกาสและการต่อยอด

  • หลายๆ โรงเรียนแก้ปัญหาได้หลายปีแล้ว ความท้าทายต่อไปคือการสานต่อให้เกิดเป็นหลายๆ รุ่น
  • ในปีต่อไป อาจต้องให้พื้นที่โรงเรียนที่ทำมาหลายปี ได้แลกเปลี่ยนและแนะนำโรงเรียนที่เพิ่งเริ่มทำ
  • โรงเรียนที่แก้ปัญหาได้แล้วในทางนโยบายควรท้าทายต่อเรื่องค่านิยมใหม่ พื้นที่ความเท่ใหม่
  • (คำถามจากวิทยากร) เราโอเคกับการใช้สกุตเตอร์ไฟฟ้าที่ความเร็ว 50km/hr ไหม เพราะทั้งเท่กว่า ถูกกว่า ปลอดภัยกว่ามอเตอร์ไซค์ แต่เร็วกว่าจักรยาน?

 


 

โปรดแสดงความคิดเห็น