สัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ( 6-7 ธ.ค.2560 )

6-7 ธันวาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร – – ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้ร่วมจัดงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” (Invest for Sustainable Road Safety) 

งานสัมมนานี้จัดขึ้นโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ทราบนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และมีส่วนร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ รวมทั้งแนวทางการบูรณาการในการดำเนินงาน เพื่อให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำความรู้ แนวทาง และรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ไปเผยแพร่และปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดรูปธรรมในการทำงานที่จริงจังและมีประสิทธิภาพ และถือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมงาน 2,000 คน ที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และท้องถิ่น

ศูนย์วิจัยฯ ได้มีบทบาทสำคัญในงานสัมมนา ดังนี้ ร่วมเป็นคณะทำงานและสนับสนุนบุคลากรลงทะเบียนเข้าร่วมงาน, สนับสนุนโรงเรียนในเครือข่าย “โรงเรียนบ้านบึงมนูญวิทยาคาร จ.ชลบุรี” (ครูและนักเรียน) เป็นวิทยากรนำเสนอบนเวที เรื่อง การจัดการระบบข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (ภายใต้บทเรียนโครงการ “ก่อน15ไม่ขี่”) ในการเสวนาห้องย่อยเยาวชน หัวข้อ ลงทุนเพื่อเด็กไทยปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน

“จากสถานการณ์ที่นักเรียนอายุก่อน 15 ปี ของโรงเรียนเกิดอุบัติเหตุจากการขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งมักเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลังจากที่นักเรียนกลับถึงบ้านแล้ว และขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านอีกครั้งหนึ่งในเวลาเย็น โรงเรียนจึงเข้าร่วมโครงการก่อน 15 ปีไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนอายุก่อน 15 ปี ตระหนักถึงการไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ และต้องการลดสถิติการขี่มอเตอร์ไซค์ในนักเรียนอายุก่อน 15 ปี ในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ ครูและนักเรียนได้นำแบบสำรวจข้อมูลของโครงการมาใช้ในการเก็บข้อมูลการเดินทางของนักเรียน เพื่อให้ทราบว่านักเรียนในโรงเรียนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนกี่คน และมีกี่คนที่อายุไม่ถึง 15 ปี และขับรถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียน ไม่เพียงทราบจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ ยังสำรวจ เส้นทางการเดินทาง และความจำเป็นในการนำรถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนด้วย ทำให้ทีมงานทราบถึงสถานการณ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดกับนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงสามารถกำหนดมาตรการห้ามนักเรียนอายุไม่ถึง 15 ปี ขับรถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนได้ 

โรงเรียนให้ความสำคัญกับข้อมูลรูปแบบการเดินทางที่อยู่บนพื้นฐานความจำเป็นของนักเรียนแต่ละคน มีการพูดคุยกับนักเรียนอายุก่อน 15 ปีที่ขี่มอเตอร์ไซค์ เพื่อช่วยนักเรียนเลือกรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดและตอบโจทย์ของนักเรียนมากที่สุด รวมทั้งมีการสนับสนุนค่ารถรับส่งระหว่างบ้านและโรงเรียน  ถึงแม้ว่าโครงการก่อน 15 ไม่ขี่ จะมีเป้าหมายไม่ต้องการให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ขับรถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนก็ตาม แต่การทำงานในโครงการไม่สามารถใช้มาตรการห้ามนักเรียนเพียงอย่างเดียวได้ เพราะจะเกิดการต่อต้านจากทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง ครูและนักเรียนแกนนำจึงเลือกกระบวนการในการให้ข้อมูลและการสื่อสารกับทั้งนักเรียนและผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง การหารือกับผู้ปกครองเพื่อหาทางออก หรือหาทางเลือกในการเดินทางมาโรงเรียนโดยไม่ต้องขับรถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียน รวมถึงการตั้งงบประมาณบางส่วนเพื่อจ้างรถรับจ้างมารับ-ส่งนักเรียนแทนเพื่อเป็นการสร้างทางเลือกในการเดินทางใหม่ให้กับนักเรียน

นอกจากข้อมูลการสำรวจการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนแล้ว ทางโรงเรียนได้มีการจัดเก็บข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของนักเรียนในโรงเรียน โดยปกติโรงเรียนจะมีการจัดเก็บข้อมูลอุบัติเหตุไว้ที่หน่วยพยาบาลของโรงเรียนอยู่แล้ว แต่หากมีอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิต จะมีการบันทึกและรายงานการเกิดอุบัติเหตุไปที่สำนักงานเขตการศึกษา ซึ่งสำนักงานเขตการศึกษาก็จะมีข้อสั่งการกลับมาให้โรงเรียนมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา

การแทรกกิจกรรมให้เป็นฐานหนึ่งในงาน Open house ของโรงเรียน เช่น มีการตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับการใช้ถนนอย่างปลอดภัยและการไม่ใช้มอเตอร์ไซค์ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีกิจกรรม Bike Rally โดยให้ขี่จักรยานไปตามจุดต่างๆ เพื่อรณรงค์การไม่ขี่มอเตอร์ไซค์สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยนักเรียนโรงเรียนบ้านบึงมนูญวิทยาคารและโรงเรียนประถมศึกษาใกล้เคียงจำนวน 10 โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่ง Bike Rally จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขี่จักรยานแทนการขี่มอเตอร์ไซค์ / การจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง เนื้อหาที่อบรม ได้แก่ ความสำคัญของสถาบันครอบครัว กฎหมาย พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ปัญหาการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และโทษของผู้ขับขี่ที่มีอายุก่อน 15 ปี  วิทยากรมาจากหน่วยงานสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.ชลบุรี / เดินรณรงค์ในชุมชนเพื่อการไม่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี  ในการเดินรณรงค์นี้นักเรียนได้แจกสื่อ ได้แก่ แผ่นพับ สติ๊กเกอร์ และพวงกุญแจซึ่งนักเรียนได้ออกแบบเอง บนสื่อต่างๆ มีข้อความรณรงค์ “ก่อน 15 ไม่ขี่”  เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนรับรู้ว่าโรงเรียนกำลังนี้ทำโครงการและขอความร่วมมือไม่ให้บุตรหลานในชุมชนที่มีอายุก่อน 15 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์ / การทำภาพยนตร์สั้นชื่อเรื่อง “วัยไม่ถึง อย่าเพิ่งรีบตาย” เพื่อรณรงค์การไม่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ของเด็กอายุก่อน 15 ปี นักเรียนแกนนำของโครงการเขียนบทภาพยนตร์และแสดงเอง เรื่องราวในภาพยนตร์เป็นเรื่องที่พ่อใช้ลูกชายอายุก่อน 15 ปี ให้ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปซื้อของและลูกถูกตำรวจจับ ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของนักเรียนในโรงเรียน ให้แง่คิดและสื่อถึงโทษของการขับขี่ก่อนอายุ 15 ปี ภาพยนตร์สั้นนี้ได้รับการเผยแพร่ทาง facebook ของโรงเรียน รวมทั้งได้รับการอัพโหลดลงใน youtube / การประกวดวาดภาพระบายสีในหัวข้อ ก่อน 15 ปี ไม่ขี่ ชีวิตปลอดภัย / การประกวดแต่งคำขวัญและคำประพันธ์(ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศวปถ)       

ซึ่งในห้องย่อยเยาวชนนี้ ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้  

1.กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายสนับสนุนให้สถานศึกษาภายใต้สังกัด มีการจัดการข้อมูลจากระบบที่มีอยู่ เช่น “ระบบดูแลและช่วยเหลือนักเรียน” มาจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อออกมาตรการ นโยบายในการป้องกันแก้ไขปัญหา

2.ศปถ. จังหวัด ร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลในการประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด

3.กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้สถานศึกษาภายใต้สังกัด จัดการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนครอบคลุมทุกช่วงวัย

ครูโรงเรียนบ้านบึงมนูญวิทยาคาร วิทยากรบนเวที


นักเรียนนำเสนอผลงานโครงการ “ก่อน15ไม่ขี่”


ศูนย์วิจัยฯ นำเสนอที่มาของโครงการ “ก่อน15ไม่ขี่”  และให้สัมภาษณ์


อีกทั้งได้สนับสนุนโรงเรียนในเครือข่าย “โรงเรียนหนองขอนวิทยา จ.อุบลราชธานี” (ครูและนักเรียน) นำเสนอผลงานโครงการ “ก่อน15ไม่ขี่” (รูปแบบโปสเตอร์) ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่โรงเรียนหนองขอนวิทยา ได้รับรางวัลชนะเลิศ “ประกวดผลงานวิชาการ ประเภทเยาวชน”  

ทีมโรงเรียนหนองขอนวิทยา และผลงานวิชาการของเยาวชน (โปสเตอร์)


โรงเรียนหนองขอนวิทยา ได้รับรางวัลชนะเลิศ “ประกวดผลงานวิชาการ ประเภทเยาวชน” 


นอกจากนี้ยังได้จัดบูธนิทรรศการ ทั้งบูธส่วนกลาง และบูธห้องย่อยเยาวชน เรื่อง “ก่อน15ไม่ขี่” โดยร่วมกับโรงเรียนหนองขอนวิทยา จ.อุบลราชธานี และโรงเรียนบ้านบึงมนูญวิทยาคาร จ.ชลบุรี


 

โปรดแสดงความคิดเห็น