โครงการ “เด็ก don’t drive: 15 ปีไม่ขี่มอเตอร์ไซด์”
*******************************
1.หลักการและเหตุผล
ตามแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำหนดให้การลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งใน 10 เป้าหมายเฉพาะ ขณะที่รายงานขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2556 รายงานว่าประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 26,000 คน หรือคิดเป็นอัตราตาย 38.1 คนต่อประชากรแสนคน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก
ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้มีนโยบายชัดเจน ที่จะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และส่งเสริมการเรียนรู้การเดินทางและการใช้การขนส่งอย่างปลอดภัย ได้ประกาศให้ปี 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ซึ่งถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ของประเทศของประเทศ มีภาคีเครือข่ายมากหลายภาคส่วนในการดำเนินงานเรื่องนี้ เช่น ศูนย์ความปลอดภัยทางถนน กระทรวงคมนาคม ขนส่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน ตลอดจนส่วนงานพื้นที่ เช่น โรงเรียน-สถานศึกษา วัด ชุมชน การปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบต สถานบริการสาธารณสุข ขนส่งจังหวัด มูลนิธิ-องค์กรเอกชน ห้าง-ร้านค้ายานยนต์-ร้านค้าสุรา ปั๊มบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สื่อมวลชนท้องถิ่น วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี เป็นต้น
สถานการณ์ปัญหาความปลอดภัยในเด็ก
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้เป็นองค์กรหลักของสังคมในการขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2545 จนถึง 2557 รวม 13 ปี พบว่าอัตราการตายจากการบาดเจ็บและสารพิษในเด็กลดลงจาก 26 ต่อ100,000 คน หรือ 3,625 คนต่อปี เหลือ 22 ต่อ 100,000 หรือ 2,658 คนต่อปี คิดเป็นอัตราการตายลดลงร้อยละ 18 เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุเด็กพบว่ากลุ่มอายุน้อยกว่า 10 ปีมีแนวโน้มการตายลดลง แต่กลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปีมีแนวโน้มการตายสูงขึ้น (รูปที่1)
ในปี 2557 จมน้ำเป็นสาเหตุหลักการตายของเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี จราจรเป็นสาเหตุหลักการตายของเด็กอายุ 10-14 ปี (รูปที่2) หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าจมน้ำเป็นเหตุนำการตายในเด็กที่อายุ 1-9 ปี ขณะที่จราจรเป็นเหตุนำการตายของเด็กอายุมากกว่า 10 ปีมาโดยตลอด การขาดอากาศหายใจจากเหตุต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การจมน้ำเป็นเหตุนำการตายสำคัญลำดับที่ 3 ของเด็กเล็ก (เด็กปฐมวัย) รองจากจมน้ำและจราจร ขณะที่ไฟฟ้าเป็นเหตุนำการตายลำดับที่ 3 ของเด็กโต (เด็กวัยเรียน) รองจากจราจรและความรุนแรง
ข้อมูลปี 2554 พบว่าเด็กวัยรุ่น (10-14ปี) เป็นกลุ่มที่มีอัตราการตายจากการบาดเจ็บสูงกว่ากลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่าทั้งหมด (25/100000) และเป็นกลุ่มอายุเดียวที่มีอัตราการตายจากการบาดเจ็บสูงขึ้น (ร้อยละ 21) ใน 12 ปีนี้ ในกลุ่มนี้อุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุหลัก โดยมีแนวโน้มของอัตราการตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ล่าสุดอัตราการตายของเด็ก 10-14 ปีจากอุบัติเหตุจราจรมีอัตราการตาย 11/100000 สูงมากกว่าเด็กกลุ่มวัยเรียนและปฐมวัย ในปี 2557 อัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรคิดเป็นร้อยละ 40 ของอัตราการตายจากการบาดเจ็บทั้งหมด
เป้าหมายในการลดอัตราการตายของเด็กจากอุบัติเหตุจราจรตามตารางแสดง
รูปที่ 2
สถานการณ์ปัญหาความปลอดภัยทางถนนในเด็ก
จราจรเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี และมีแนวโน้มอัตราการตายที่สูงขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักของการตายในกลุ่มนี้ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ ทั้งการขับขี่ก่อนวัย เมาแล้วขับ ขับเร็ว และไม่ใส่หมวกนิรภัย ได้สำรวจเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กว่า 3,000 ราย พบว่ามีพฤติกรรมขับขี่ก่อนวัยถึง ร้อยละ 57.6 แม้ว่า พรบ.จราจรจะห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่รถจักรยานยนต์ ในทางปฏิบัติกฎระเบียบนี้ถูกละเลยทั้งสังคม
จากข้อมูลระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 28 โรงพยาบาลของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข เมื่อนำมาเปรียบเทียบคำนวณกับทะเบียนการตายพบว่าการตายจากอุบัติเหตุจราจรในเด็กน้อยกว่า 15 ปี ในปี 2554 มีจำนวนรวมทั้งประเทศเท่ากับ 614 ราย เป็นการขับขี่ 208 ราย และเป็นการโดยสาร 285 ราย ร้อยละ 85 ของผู้ขับขี่เป็นการขับขี่รถจักรยานยนต์ คิดเป็น 178 ราย และร้อยละ 57 ของผู้โดยสารเป็นการโดยสารรถจักรยานยนต์คิดเป็น 164 ราย รวมแล้วเป็น 342/614 ราย (ร้อยละ 56)
การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรในเด็กน้อยกว่า 15 ปี ในปี 2554 มีจำนวนรวมทั้งประเทศเท่ากับ 15,577 ราย เป็นการขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์คิดเป็น 11,593 ราย (ร้อยละ 74) เป็นการขับขี่รถจักรยานยนต์ 5,913 ราย (ร้อยละ 73) และเป็นการโดยสารรถจักรยานยนต์ 5,680 ราย (ร้อยละ 70) การสำรวจในปี 2556 พบว่าเด็ก ป.6 ขับขี่มอเตอร์ไซค์เป็นแล้ว 1,627 คนใน 2,858 คน คิดเป็นร้อยละ 56.9
สรุปได้ว่าเหตุนำการตายในเด็กอายุ 10-14 ปี คือ การขับขี่รถจักรยานยนต์ก่อนวัยอันควร หากเด็กกลุ่มนี้ปฏิบัติตามกฎหมายคือไม่ขับขี่ จะลดการตายของอุบัติเหตุจราจรได้ ร้อยละ 29 และลดอัตราการตายบาดเจ็บที่ไม่ตายลงได้ร้อยละ 38
ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังผลักดันนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้เวลาที่ว่างขึ้นจากการเรียนในหลักสูตรมาใช้ในการเรียนรู้เพื่อสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจรที่เป็นสาเหตุการตายลำดับหนึ่งของเด็กวัยรุ่น รวมทั้งการสร้างทักษะให้เป็นนักรณรงค์ นักจัดการความปลอดภัยที่สามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่นต่อไป
เป้าหมายเชิงพฤติกรรมต้องลดพฤติกรรมขับขี่ก่อนวัย 15 ปีให้เหลือ 0 และโดยสารรถจักรยานยนต์ใช้หมวกนิรภัย 100% ไม่โดยสารผู้ขับขี่เมา ผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 15 ปี โดยให้มีการขยายกิจกรรมที่จะทำให้เด็กวัยนี้ ครอบครัว และชุมชน รับรู้ความเสี่ยง รับรู้ข้อกำหนดของกฎหมาย และมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการเปลี่ยนวิถีชีวิตของเด็กและเพื่อนในการไม่ขับขี่ และโดยสารรถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย ภาระที่ต้องทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ขับขี่นี้ เป็นภารกิจร่วมของครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน ตำรวจ และผู้ร่วมใช้ถนน
ตารางที่ 3 แสดงอัตราการตาย (/100000) และจำนวนการตายของเด็กกลุ่มอายุต่าง ๆ จากอุบัติเหตุจราจร ปี 2543-2557 และการเปรียบเทียบอัตราการตายเฉลี่ยปี (2543-2545) และปี (2555-2557)
2.วัตถุประสงค์
เพื่อขยายผลรูปแบบกระบวนการรณรงค์โดยเยาวชนนำเยาวชน ในการลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน และ นอกเวลาโรงเรียน ก่อนอายุ 15 ปี
3.ตัวชี้วัดผลลัพธ์โครงการ
- อัตราการขับขี่ของเด็กนักเรียนในโครงการโดยรวมลด การขับขี่รถจักรยานยนตร์มาโรงเรียนลดลงร้อยละ 60
- โรงเรียน/ชุมชนสามารถดำเนินโครงการรณรงค์โดยเยาวชนนำเยาวชน เพื่อลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนและนอกเวลาโรงเรียน ก่อนอายุ 15 ปี ที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน อย่างน้อย 50 โรงเรียน/ชุมชน (ร้อยละ 60)
- ร้อยละ 50 ของโรงเรียน/ชุมชน (40 โรงเรียน/ชุมชน) ที่ดำเนินโครงการได้นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการต่อเวทีกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” และเวทีความปลอดภัยทางถนน เวทีนวัตกรรมชุมชนอื่น ๆ เช่น ชุมชนสุขภาวะ ชุมชนปลอดภัยในจังหวัด อย่างน้อย 1 ครั้ง
- ได้พื้นที่ตัวอย่าง/ต้นแบบ ที่สามารถดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนและนอกเวลาโรงเรียน ก่อนอายุ 15 ปี ต่อเนื่องในปีต่อไปได้เองโดยงบประมาณและการจัดการหลักของพื้นที่ จำนวน 20 โรงเรียน/ชุมชน
4.กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 จำนวน 80 ห้องเรียน (1โรงเรียน 1 ห้องเรียน)
5.พื้นที่ดำเนินงาน
พื้นที่สนับสนุนโครงการ โดยคัดเลือกจากจังหวัดที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรของเด็ก 10-14 ปีสูง และจังหวัดที่มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนที่เป็นเครือข่ายศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กฯ จำนวน 25 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, พิษณุโลก, นครนายก, สระบุรี, อยุธยา, สุพรรณบุรี, กทม, สมุทรปราการ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, ชลบุรี, ตราด, ระยอง, เพชรบุรี, เลย, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, ภูเก็ต, กระบี่ และตรัง
6.แนวทางการดำเนินงานโครงการ
- การเตรียมเครื่องมือการฝึกอบรม
- แบบสำรวจพฤติกรรมการใช้มอเตอร์ไชค์ ผ่านระบบออนไลน์
- หลักสูตร “15 ปีไม่ขี่” ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 10 บท ประกอบด้วย ความรู้ทั่วไปเรื่องอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ สมองและหน้าที่ ผลต่อสมองและร่างกายจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ หมวกนิรภัย เด็กกับการขับขี่ เด็กซ้อนเด็ก การสำรวจพฤติกรรมเสี่ยง การณรงค์ชุมชน การปฐมพยาบาลบนถนน จะใช้ชีวิตอย่างไรถ้าเราไม่ขี้มอเตอร์ไซด์ ซึ่งจะมีแบบทดสอบ จำนวน 3 ข้อท้ายบทเรียน
- Website “80 โรงเรียน 15 ปีไม่ขี่” สำหรับการสะสมความรู้ การแลกเปลี่ยนความรู้ ติดตามความคืบหน้าของทุกโรงเรียน
- จัดทำ MOU ร่วมกับโครงการลูกเสือไซเบอร์ของกระทรวง ICT และระบบการรายงานพฤติกรรมเสี่ยง จุดเสี่ยงบนถนน และการส่งภาพพร้อมระบุตำแหน่ง GPS
- ชุดสื่อการสอนภาคปฏิบัติสำหรับสนับสนุนโรงเรียน (ลักษณะเวียนใช้) ได้แก่ กล้องถ่ายภาพ tablet ที่สามารถใช้ Wi-Fi ได้ ป้ายไวนิลสำหรับการเดินรณรงค์ หมวกนิรภัย ชุดทดสอบการตอบสนองของร่างกาย เป็นต้น
- การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ (โครงการรณรงค์โดยเยาวชนนำเยาวชน) มีกระบวนการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน ดังนี้
- การประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครและพิจารณาคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วมโครงการ เปิดรับสมัครและพิจารณาคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วมโครงการ โดยการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ (แบบกระจายภูมิภาค) และพื้นที่ที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรของเด็ก 10-14 ปีสูง
คุณสมบัติ/หลักเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วม ประกอบด้วย
- มีนักเรียนที่เดินทางมาโรงเรียนโดยการขับขี่รถจักรยานยนต์
- เป็นโรงเรียน/ชุมชนใหม่ ที่ไม่เคยดำเนินการโครงการนี้ หรือ เป็นโรงรียน/ชุมชนใหม่ที่ต้องการนำโครงการเข้าร่วมโครงการความปลอดภัยทางถนนของกรมป้องกันภัย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม ศูนย์ความปลอดภัยทางถนน หรือกลุ่มนวัตกรรมชุมชนอื่น ๆ เช่น โครงการชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนปลอดภัย ชุมชนสุขภาวะ เป็นต้น
- เป็นโรงเรียน/ชุมชนที่เคยดำเนินการโครงการนี้มาก่อน แต่เว้นการดำเนินงานมาแล้ว 1 ปี
- หากเป็นโรงเรียนในสังกัดขององค์กรปกครองท้องถิ่น หรือ นักเรียนอยู่ในโครงการลูกเสือไซเบอร์ จะได้รับการพิจารณาก่อน
- มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินโครงการให้สำเร็จ
- จัดให้มีกระบวนการคัดเลือกโรงเรียน/พื้นที่ ที่มีความพร้อม/คุณสมบัติสอดคล้องกับแนวทางการสนับสนุนทุน โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสส. และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนโครงการของ สสส.
- เวทีปฐมนิเทศโครงการ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงเรียน/พื้นที่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการโดยการประสานไปยังโรงเรียนมีคุณสมบัติและผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเบื้องต้น เพื่อเชิญผู้บริหาร กลุ่มครูผู้รับผิดชอบจัดการโครงการ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานโครงการ และนำข้อมูลไปคัดเลือกห้องเรียน หรือ กลุ่มนักเรียน (อย่างน้อย 10 คน) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ 2 จำนวน 1 ห้องเรียน หรือ 1 กลุ่ม /โรงเรียน
- สนับสนุนทุนโครงการ โดยการอนุมัติโครงการ จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วม ให้โรงเรียนเปิดบัญชีโครงการ และทำการโอนเงินสนับสนุนโครงการให้กับโรงเรียน
- การดำเนินโครงการตามกรอบกิจกรรมที่ให้ทุนสนับสนุน มีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้
โครงการรณรงค์โดยเยาวชนนำเยาวชน
วัตถุประสงค์ : เพื่อรณรงค์การลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน ก่อนอายุ 15 ปี
ตัวชี้วัดผลลัพธ์โครงการ :
- นักเรียนอายุต่ำกว่า 15 ขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน ลดลงร้อยละ60
- เกิดสื่อรณรงค์การลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนและนอกเวลาโรงเรียน ก่อนอายุ 15 ปี อย่างน้อย 3 รูปแบบ ได้แก่ สื่อ Social media สื่อวิทยุท้องถิ่น การสร้างสถานการณ์จำลองจริง
- เกิดช่องทางการรณรงค์สื่อสาร เพื่อการลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนและนอกเวลาโรงเรียน ก่อนอายุ 15 ปี อย่างน้อย 3 ช่องทาง ได้แก่ สื่อมวลชน เช่น ทีวี วิทยุ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น, สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น อีบุ๊ค หนังสือพิมพ์, สื่อ Social media เช่น Face book YouTube
รูปแบบกิจกรรม
กิจกรรม1: เริ่มต้นเรียนรู้ “15ปีทำไมต้องไม่ขี่” นักเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการเข้ารับการอบรม
หลักสูตร 15ปีไม่ขี่ ผ่านหลักสูตรออนไลน์ของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ทุกคนต้องได้ประกาศนียบัตรจากการอบรมก่อนเริ่มโครงการ
กิจกรรม 2: นักสำรวจความเสี่ยง ทำการสำรวจพฤติกรรมการขับขี่และการโดยสารมอเตอร์ไซด์ ทั้งที่ไปกลับโรงเรียน รวมทั้งเด็กในละแวกชุมชน
- โดยใช้แบบสำรวจที่กำหนดเป็นแบบนำร่อง ให้นักเรียน ครู ที่รับผิดชอบโครงการช่วยกันดูและแก้ไขแบบสอบถามให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ก่อนเริ่มดำเนินการสำรวจการขี่มอเตอร์ไซด์ของเด็กในโรงเรียน และนำผลสำรวจมาหาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนนำผลไปให้ผู้บริหารโรงเรียน ชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียนอื่นๆได้รับทราบทั่วกัน เป็นการเริ่มต้นมีบทบาทขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนและชุมชน และมีผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงของนักเรียน ชุมชนและครอบครัวในเรื่องขับขี่ก่อนวัย
- การเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง จุดเสี่ยงบนถนน และ Photovoice (เสียงจากภาพสู่นโยบาย) ทำการถ่ายภาพพฤติกรรมเสี่ยง/จุดเสี่ยงบนถนนหน้าโรงเรียน ในโรงเรียน ในชุมชน เข้าสู่ระบบส่วนกลางซึ่งจะปรากฏผลการสำรวจของนักเรียนในwebsite พร้อมระบุพิกัด GPS และชื่อองค์กรท้องถิ่นที่ดูแลพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้นบนพื้นที่จุดเสี่ยงนั้น หลังจากนั้นนำภาพนั้นมาบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในชั้นเรียน รวมทั้งนำมาจัดนิทรรศการและเชิญผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น หัวหน้าชุมชน เข้าร่วม รับฟังและแสดงความเห็นในการดำเนินการแก้ไขต่อไป
กิจกรรม3: นักออกแบบเพื่อการสื่อสาร
- นำข้อมูลกิจกรรม 2 มาออกแบบจัดทำ info-graphic และ กระตุ้นสื่อเพจออนไลน์ #ก่อน15ไม่ขี่ (facebook.com/dekdontdrive) และนำมาจัดทำคลิปเผยแพร่ และขยายผลผ่านโซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชน กระตุ้นยอดไลค์ ยอด Reach
- รวมทั้ง สร้างกระแสเชิงสัญลักษณ์ “ก่อน 15 ไม่ขี่” ด้วยวิธีการสถานการณ์จำลองเกิดอุบัติเหตุ
กิจกรรม 4 นักประสานพลัง หาภาคีเครือข่ายสนับสนุนโดยการนำข้อมูลเข้าพบเพื่อชี้แจงโครงการ ขอรับการสนับสนุนจากเครือข่าย เช่น ผู้นำชุมชนเทศบาล / สถานีตำรวจภูธร / รพสต/ ที่ว่าการอำเภอ / สื่อท้องถิ่น / เทศบาลนครระยอง / โรงเรียน และโรงเรียนใกล้เคียง / ผู้นำชุมชนอื่นๆ เช่น อสม อพปร
กิจกรรม 5 นักรณรงค์เพื่อความปลอดภัย จัดให้มีการรณรงค์โดยยึด 5 ยุทธวิธี การปรับพฤติกรรมเด็ก don’t drive ดังนี้
ยุทธวิธีที่ 1 แนวทาง “แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการขับขี่ก่อนวัยเพราะวุฒิภาวะไม่ถึง” แนวทางนี้กลุ่มเป้าหมายได้แก่เพื่อนนักเรียน ประชาชนทั่วไป และสื่อ มีการให้ข้อมูล สถิติการเสียชีวิตต่าง ๆ กระตุ้นการตื่นตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรง และผ่านการกระจายสื่อสาธารณะ รวมทั้งแนะนำให้นักเรียนเข้าไปรับการอบรมในหลักสูตรออนไลน์ โดยครูกำหนดให้เป็นกิจกรรมที่มีคะแนน โดยใช้เวลาที่ปรับจาก “โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เตรียมคำตอบของการโต้ตอบที่พบบ่อยเมื่อเริ่มกระตุ้นความตระหนักของชุมชน เช่น
– วัยไหนก็เสี่ยงได้ ควรรณรงค์ให้ขับขี่ปลอดภัยแทน
– รู้สึกว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องของดวง ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้
– หลายคนที่ขับขี่ก็ยังมีชีวิตอยู่ปลอดภัยดี ยังเป็นเรื่องไกลตัว
– บ้านไกล จะให้ทำอย่างไร
ยุทธวิธีที่ 2 แนวทาง “พ่อแม่ อย่าประมาท” แนวทางนี้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครองของเพื่อนนักเรียน เป็นแนวทางด้านความปลอดภัยในเด็ก อันเกิดจากความร่วมมือและความเป็นห่วงคนที่เรารัก เตรียมคำตอบของคำถาม
- พ่อแม่บางคนก็ไม่มีทางเลือก ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องปรับต่อว่าจะมีแนวทางไหนอีกที่ทำลายกำแพงทางความคิดของพวกเขาได้
ยุทธวิธีที่ 3 แนวทาง “เดินทางด้วยทางเลือกอื่น” แนวทางนี้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เพื่อนนักเรียน ถ้าไม่ขี่ก่อนวัย มีหนทางอื่นในการเดินทางอย่างไร ทางเลือกอื่นอาจแตกต่างกัน เป็นความหลากหลายของพื้นที่ ที่มีปัจจัยต่างกัน
ยุทธวิธีที่ าสตร์่พรรมการเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้4 แนวทาง “ว่าด้วยกฏหมาย” แนวทางนี้ใช้ได้กับทุกคน เน้นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการผิดกฎหมายนี้จะนำมาซึ่งความยุ่งยากและความจำเป็นต่าง ๆ ในภายหลัง ทุกคนเลือกที่จะขี่ก่อนวัยหรือขี่ถูกกฏหมายก็ได้ ไม่มีใครไม่มีทางเลือก ขึ้นอยู่กับคุณเลือกมุมไหน
- ผิดกฏหมาย > เสียสิทธิอะไรบ้าง > คุ้มเสี่ยงหรือไม่? เมื่อขับขี่มอเตอร์ไซค์ก่อนวัย จะทำให้ผิดกฏหมาย และเสียสิทธิต่าง ๆ มากมายเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น ไม่ว่าเขาชนเรา หรือเราชนเขา เราก็ผิด นอกจากนั้นการบาดเจ็บต้องเบิกค่ารักษาจาก พรบ. ซึ่งต้องใช้ใบขับขี่ในการเบิก จะ เบิกบัตรทองไม่ได้ หากจะเบิกบัตรทองต้องจ่ายเองก่อน 15,000 บาท เป็นต้น หากเกิดเรื่องขึ้นมามีแต่เสีย (เงิน) กับเสีย (ชีวิต)
รออีกนิดก็ถูกกฏหมายแล้ว > ถ้าถูกกฏหมายดีอย่างไร เมื่อพูดถึง “เด็กขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ได้เพราะวุฒิภาวะไม่ถึง” วุฒิภาวะในที่นี้มีลักษณะเป็นนามธรรม หลายคนก็ตีความว่าเมื่อไหร่จะมีวุฒิภาวะต่างกันออกไป แต่เมื่อวุฒิภาวะถูกครอบด้วยกฏหมายแล้ว ทุกคนต้องยอมรับว่า “ 15ปี + ใบขับขี่ = ขี่ได้” และ “ไม่มีใบขับขี่ = ขี่ไม่ได้” การพูดถึงวุฒิภาวะให้ชัดด้วยประเด็นด้านกฏหมาย “สิทธิทางกฏหมายที่จะได้และจะเสีย” นำไปสู่ประเด็น “รออีกนิดก็จะได้ขี่อย่างสบายใจ”
- “ก่อน 15 ปีไม่ขี่ ไม่ใช่เรื่องเว่อร์” แนวทางนี้เกิดจากการต่อต้านว่า ก่อน 15 ไม่ขี่ เป็นไปไม่ได้ เด็กที่อายุยังไม่ถึงแต่ “โตพอที่จะขี่” ต้องให้ขี่ได้ หากตีแนวคิดนี้ให้ลึกลงไปอีก เมื่อมี “โตพอ” ก็ต้องมี “เด็กไป” คำถามคือ เมื่อไหร่ที่เด็กไป และเมื่อไหร่ที่โตพอ หากถามคำถามนี้อาจจะได้คำตอบที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วหากคุณรู้สึกว่า 10 ขวบ เด็กไป แต่ 13 โตแล้ว นั่นก็แสดงว่ากลุ่มวัยที่เป็นปัญหาจริง ๆ อยู่ที่ช่วง 13-14 ปี ที่หากรออีกไม่กี่ปีก็จะได้ขับขี่อย่างถูกกฏหมาย แล้วจะดีกว่าไหมถ้าได้ขี่โดยมีสิทธิประกันคุ้มครองในกรณีที่เกิดเหตุต่าง ๆ แนวทางนี้จึงประนีประนอมด้วยการ “ขอให้ชะลอเวลาลงอีกไม่กี่ปีเพื่อสิทธิทางกฏหมาย” ดังนั้นก่อน 15 ไม่ขี่จึงเป็นไปได้ และไม่ใช่เรื่องยากเกินเลย แต่หากกลุ่มเป้าหมายตอบว่า 9 ขวบ โตพอแล้ว ก็ต้องพูดเรื่องการเสียสิทธิทางกฎหมายแทน
ยุทธวิธีที่ 5 ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบในโรงเรียน เช่น ป้ายรณรงค์ให้ความรู้ ที่จอดรถมอเตอร์ไซด์ จุดจอดรถรับส่งเด็กนักเรียนหน้าโรงเรียน การติดตั้งการบันทึกภาพการใช้รถมอเตอร์ไซค์ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในโรงเรียน
ยุทธวิธีที่6 ทำประชามติในโรงเรียน 15ปีไม่ขี่
กิจกรรม 6 นักประเมิน ประเมินผล ประเมินผลลัพธ์ การขับขี่ของเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี (ม.3 และต่ำกว่า) ประเมินทางอ้อม ได้แก่ ประเมินการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม กฎของโรงเรียน ชุมชน การนำเสนอของสื่อมวลชน การขยายวงการโต้ตอบในสื่อ สังคม
กิจกรรม 7 เล่าสู่เพื่อนด้วยความหวังดี เข้าร่วมเวทีสาธารณะ Show & Share เพื่อให้นักเรียน/ครู นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- การพัฒนาศักยภาพแกนนำโครงการ
- เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับภูมิภาค 5 ภูมิภาค เพื่อนำเสนอผลความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม ปัจจัยความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรค ผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาว่าเกิดผลลัพธ์อย่างไรบ้าง และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคีเครือข่าย พร้อมพัฒนาศักยภาพแกนนำ (โรงเรียน) ในการนำเสนอผลการดำเนินงานในเวทีต่าง ๆ
- เวทีถอดบทเรียนผลลัพธ์โครงการ เพื่อดำเนินการสังเคราะห์ความรู้เชิงผลลัพธ์ รวบรวมองค์ความรู้เชิงปฏิบัติการ รวมถึงการค้นหาแนวทางการทำงานที่ดี (Best practices) จาก 80 ห้องเรียน/โรงเรียน ที่ได้รับทุน คัดเลือกอย่างน้อย 20 ห้องเรียน/โรงเรียน เพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียน และขยายผลการปฏิบัติการที่ดีได้ให้แก่ สสส. ต่อไป
- การติดตามสนับสนุนโครงการ
รูปแบบการติดตามสนับสนุนโครงการ มีรูปแบบการติดตามสนับสนุนในพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการแบบเสริมพลังในทุกโรงเรียน จำนวน 80 โรงเรียน โดยเจ้าหน้าที่โครงการและผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก พร้อมทั้งให้ความรู้เพิ่มเติมให้ประเด็นที่เกี่ยวข้อง และให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการบริหารจัดการโครงการ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินงานได้บรรลุวัตถประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
อีกทั้งจัดให้มีการประกวดความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมในการออกแบบกิจกรรม 15 ปีไม่ขี่ โดยคัดเลือกจากผลการรายงาน การลงติดตามเยี่ยมชม การประเมินผลบรรยากาศ การรับรู้ของเด็กในโรงเรียน และผลลัพธ์ด้านพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่สัมผัสได้ เป็นต้น
- เวทีสรุปบทเรียน 80 ห้องเรียน 80โรงเรียน
เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน (ภาพรวม) ทั้งหมดของโครงการรณรงค์โดยเยาวชนนำเยาวชน การจัดนิทรรศการนำเสนอผลสัมฤทธิ์/ตัวอย่างที่ดีของโครงการชุมชนฯ (อย่างน้อย 20 โครงการ) การสัมมนาแลกเปลี่ยนบทเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทาง และบทเรียนรู้ รวมทั้งเพื่อต่อยอดการดำเนินงาน
7.การกำกับติดตามประเมินผลโครงการ
การติดตามประเมินผลโครงการ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ (1) การติดตามภาพรวมระดับโครงการ (2) การติดตามระดับจังหวัด (3) การติดตามระดับโครงการย่อย โดยการติดตามทั้ง 3 ระดับ เน้นหลักการติดตามเพื่อพัฒนาและสนับสนุนการเรียนรู้จากกระบวนการทำงานตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้งานทุกระดับบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้
- การติดตามภาพรวมระดับโครงการจัดการประชุมสรุปงานทุกเดือน โดยทีมบริหารโครงการร่วมกับที่ปรึกษา
- การติดตามระดับจังหวัดมีการประชุมคณะกรรมการโครงการซึ่งเป็นที่ปรึกษาและเป็นตัวแทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมแต่ละจังหวัด ร่วมกับพี่เลี้ยงและผู้แทนโครงการย่อย โดยจัดให้มีการประชุมทุก ๆ 3 เดือน เพื่อติดตามและพัฒนาประเด็นจากโครงการย่อยให้เป็นประเด็นขับเคลื่อนร่วมกัน
- การติดตามระดับโครงการย่อยประสานงานกับกลุ่มครูผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการย่อยและลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเพื่อสนับสนุน พัฒนาการทำงานของโครงการย่อย โดยทีมบริหารโครงการ
นอกจากนี้ จะมีการใช้ Social media รูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม (ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้ใช้) เช่น Facebook Line เพื่อช่วยในการสื่อสารโดยตรงระหว่างโครงการย่อยและทีมบริหารโครงการ
8.กรอบเวลาการปฏิบัติงาน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน
9.ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ได้ข้อสรุปการประชุม ความคิดเห็นในการหารือกับผู้บริหารของศูนย์ความปลอดภัยทางถนน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรท้องถิ่น เพื่อการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน และนอกเวลาโรงเรียน ก่อนอายุ 15 ปี
10.งบประมาณ
ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)